วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คุณรับมือกับความแตกต่างหลากหลายยังไง???...
ผู้ที่เรียนวิชาครูหรือที่เรียกขานกันในปัจจุบันว่าวิชาการทางการศึกษา เชื่อว่าคงเคยได้ยินชื่อ นักการศึกษาชาวอเมริกา จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) กันบ้าง นักการศึกษาชาวอเมริกันนี้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาไว้หลายเล่มและได้รับการนำมาใช้ในสถาบันฝึกหัดครูหลายแห่งนับว่าเกือบทั่วโลกได้ แม้จะเขียนหนังสือหลายเล่มและเสนอแนวคิดมากมายแต่ผู้ที่อ้างถึงกันมากมีอีกเรื่องหนึ่งที่ฮิตติดปาก คือ แนวคิดเรื่อง ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual difference) ที่เน้นว่าเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างทั้งด้านสติปัญญา ด้านความถนัด ด้านความรู้สึกนึกคิด ด้านวัฒนธรรม ฯลฯ การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่ครู พ่อแม่หรือผู้ปกครองจำเป็นต้องคำนึงให้มาก มิฉะนั้นเด็กก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้เสมอภาคกัน และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจทำให้ครูหรือพ่อแม่บางคนถึงขั้นรู้สึกลำเอียงต่อผู้เรียนอีกด้วย
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูใหม่ประสบการณ์น้อย มีโอกาสสัมผัสกับโรงเรียนประจำจังหวัด ขนาดใหญ่พิเศษที่มีชื่อเสียง สิ่งหนึ่งที่ยังคงต้องอาศัยประสบการณ์ในการแก้ปัญหาในการจัดการเรียน การสอนนั่นคือการก้าวย่างแห่งการเรียนรู้ที่กับผู้เรียนแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน บางคนก้าวเร็ว บางคนก้าวช้า ในขณะที่คิดว่าเราต่างก้าวกันตามปกตินั่นแหละ ตัวอย่างเช่นการสอนการแก้โจทย์ปัญหาในเรื่องเซต นักเรียนบางคนใช้เวลาเพียง 5 นาที เสร็จอธิบายได้ บางคนใช้เวลานานหน่อยกว่าจะเข้าใจรู้เรื่อง อาจจะใช้เวลา 10 นาที 15 นาที หรืออาจถึง ครึ่งชั่วโมง แต่บางคนไม่คิดไม่เอาอะไรเลย มองเผินๆอาจจะดูไม่ใช่ปัญหาอะไรมาก แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่พอควร ปัญหามันเกิดขึ้นก็เพราะว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้นมีจำนวนนักเรียนมากในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนนักเรียนที่ผู้เขียนสอนเฉลี่ยห้องละ 50 คน ต่างจำกัดด้วยเวลาเพียง 50 นาทีต่อคาบ กว่าจะพร้อมนำเข้าสู่บทเรียนให้นักเรียนคิดคล้อยตาม หายเหนื่อยจากการเปลี่ยนชั่วโมงเรียน เริ่มสอนได้จริงๆเหลือเพียงครึ่งชั่วโมง และเมื่อหมดเวลานักเรียนก็เปลี่ยนคาบไปเรียนวิชาอื่น เด็กที่มีจังหวะก้าวย่างในการเรียนรู้ช้า อาจจะยังไม่ทันรู้เรื่อง และที่ไม่รู้เรื่องอาจจะมิใช่สมองเขาไม่ดี (I.Q.ต่ำ) หรือโง่ แต่อาจเป็นเพราะว่าเด็กคนนั้นต้องการเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็จะรู้เรื่อง ทั้งครูผู้สอนเองในช่วงต้นๆก็ยังคงจะถ่ายทอดหรือให้ความรู้แก่นักเรียนที่ไม่ทั่วถึง ด้วยที่ว่าครูหนึ่งคนต่อนักเรียนห้าสิบคน นักเรียนแต่ละคนย่อมเรียนรู้ในสิ่งต่างๆที่แตกต่างกันครูอาจดูแลไม่ทั่วถึง อีกในบางครั้งบางห้องก่อนเรียนวิชาคณิตศาสตร์นักเรียนเรียนวิชาพละศึกษามาในช่วงบ่าย เหงื่อนักเรียนม.ปลายเยอะไหลอาบหน้า อากาศก็ร้อน เสื้อเปียก กลิ่นรองเท้าที่ฉุน และสภาพห้องเรียนที่มีนักเรียนแออัด สภาพแวดล้อมที่ยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ แล้วครูที่มีประสบการณ์เยอะๆท่านจัดการกับความแตกต่างตรงส่วนนี้อย่างไร ถึงจะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในวิชาของท่านได้อย่างถ่องแท้
การตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ ได้เริ่มเป็นสิ่งที่ท้าทายให้ผู้เรียนได้คิดหาวิธีการแก้ปัญหา เพราะคิดว่าเราจะตระหนักอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ถ้าไม่ปรับปรุงวิธีการเรียน การสอนแบบใหม่ ให้เหมาะสมกับนักเรียนกลุ่มนี้ ผู้เขียนเชื่อว่ามีจำนวนคุณพ่อ คุณแม่ คุณครูและผู้ใหญ่ในวงการศึกษาหลายคนมองเห็นประเด็นนี้ ได้หาทางแก้ไขกลวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ความสามารถและภูมิหลังของเด็กที่แตกต่าง แต่บางทีบางครั้งผู้เขียนยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เหมาะสมกับผู้เรียนมากที่สุด จะเห็นว่ากระแสโลกในทุกวันนี้มีแนวโน้มเอียงยอมรับความเหมือนที่มากกว่าความต่างโดยเฉพาะสังคมไทยที่เลี้ยงดูกันแบบพี่ๆน้องๆมีการแบ่งปัน ถ่ายเทกันได้ แต่หากตอกย้ำความเหมือนมากจนเลยเถิดก็จะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติ เพราะทั้งนี้ธรรมชาติที่แท้จริงนั้นประกอบด้วยความหลากหลายและความแตกต่าง แต่ในความหลากหลายนั้นก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่าสมดุล ไม่มีความหลากหลายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างลงตัว ก็ย่อมไม่เป็นธรรมชาติ และอะไรไม่เป็นธรรมชาติก็ไม่ปกติ การเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ก็ย่อมเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ปกติไม่รู้จริงนั่นเอง
ถึงแม้ว่า ณ ตอนนี้มีหลายคนทั้งสภาผู้แทนราษฎร ครู –อาจารย์ และพ่อแม่ต่างได้เข้าร่วมมีบทบาทออกพระราชบัญญัติการศึกษาพิจารณากันในประเด็นที่ว่าความแตกต่างและความเหมือนหรือความคับแคบกับความหลากหลาย เช่น แง่ของสิทธิ์ในการจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอน ต่างบริบทวิชา ต่างครู ต่างประสบการณ์ ต่างการวัดผลประเมินผล หลากหลายในเนื้อหาสาระ เกณฑ์การพิจารณาการจัดการเรียนการสอนอยู่ที่ใด ลักษณะเช่นนี้ผู้เขียนเชื่อว่าคงเกิดขึ้นกับครูหลายคน หลายโรงเรียนและผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่าคงมีการจัดการกับข้อจำกัดดังกล่าวไปในทิศทางที่ดี มิใช่เพียงปล่อยทิ้งให้เป็นภาระของสังคมต่อไป หาแนวทางที่ยอมรับเกิดผลประโยชน์กับผู้เรียนสูงที่สุด เพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อๆไปในสังคมไทยได้ยอมรับความแตกต่างและความเหมือนจะได้ไม่เป็นปัญหาในสังคมไทยเช่นในปัจจุบันนี้....




ผู้เขียน
....นางสาวณัฐหทัย มูลทา รหัสประจำตัว 53671430107 วท.ม.ค.ศ.4 คณิตศาสตร์ศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น