........................“กล้วยไม้ออกดอกช้า.............ฉันใด
............ ............การศึกษาเป็นไป...................ฉันนั้น
.........................แต่ออกดอกคราวใด..............งามเด่น
.........................การศึกษาปลูกปั้น.................เสร็จแล้วแสนงาม “
...........................................................................( มล.ปิ่น มาลากุล )
.........จากอดีตถึงปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากวิชาคณิตศาสตร์มีลักษณะเป็นนามธรรมและเนื้อหาบางตอนก็ยากที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจต้องใช้ความคิดอย่างสมเหตุสมผลจึงจะเรียนรู้และเข้าใจโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ได้ (สมจิต ชีวปรีชา;อ้างใน นพวรรณ มงคลนพเก้า. 2545 : 46-47)
.........จากการประเมินผลการศึกษาระดับชาติพบว่าเด็กไทยมีผลการเรียนคณิตศาสตร์ต่ำทุกปีและมีผลการเรียนอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ นักเรียนคิดแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ไม่เป็นการเรียน.การสอนจึงมีลักษณะเป็นการเลียนแบบนักเรียนทำแบบฝึกหัดหรือทำการบ้านไม่ได้ นักเรียนไม่สนใจและไม่ตั้งใจเรียน นักเรียนส่วนมากwม่มีทักษะในการคิดคำนวณ และไม่มีทักษะในการคิดแก้ไขปัญหาคณิตศาสตร์ อันมีสาเหตุมาจาก องค์ประกอบดังนี้
..............1. ด้านนักเรียน สาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์ เกิดจากนักเรียนไม่ชอบคิด ไม่ชอบแก้ปัญหา ขาดการฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ
.............2.ด้านผู้ปกครองผู้ปกครองมีการศึกษาน้อยเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์และไม่สนับสนุนหรือเอาใจใส่การเรียนของนักเรียน
.............3.ด้านหลักสูตรสาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์อันเนื่องมาจาก สื่อการสอนและเครื่องอำนวยการสอนไม่เพียงพอ
.............4.ด้านครูผู้สอน ได้แก่ ครูสอนไม่ดี อธิบายไม่รู้เรื่อง ครูดุ เจ้าอารมณ์ ครูไม่เข้มงวดในการทำการบ้าน ครูสอนจริงจังบรรยากาศเครียดขาดอารมณ์ขัน ครูไม่อดทนที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจ ครูไม่ใช้สื่อ การสอนเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ ครูให้นักเรียนอ่านเองสรุปเองแล้วมาสอบ วิธีสอนของครูไม่น่าสนใจ ครูมีความรู้ไม่ดี ขาดความมั่นใจตนเอง ครูไม่จบสาขาวิชาคณิตศาสตร์โดยตรง ครูไม่เปิดใจกว้างให้นักเรียนตอบอย่างอิสระครูขาดแรงจูงใจ ครูสอนโดยไม่เน้นการคิดแก้ปัญหาและไม่เน้นการนำไปใช้ในชีวิตจริงครูมีภาระงานที่รับผิดชอบในโรงเรียนมากไป
.......สำหรับผู้เขียนในฐานะที่เป็นคุณครูใหม่คนหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ในการสอนเพียงหนึ่งปีเศษๆ และแม้ว่าข้าพเจ้าจะเป็นครูที่เรียนผ่านหลักสูตรครู 5ปี (ครูพันธ์ใหม่)ซึ่งหลักสูตรนี้จะจัดให้มีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 1ปีเต็มๆเพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ในการสอนและการปรับตัวให้คุ้นเคยกับบริบทในสถานศึกษา ซึ่งก็ถือว่าทำให้ตนเองมีความมั่นใจและความพร้อมในการเป็นครูมืออาชีพท่ามกลางความคาดหวังของสังคม
......เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ครูอย่างเต็มตัว ในตำแหน่งที่ถูกเรียกขานกันว่า.. “ครูผู้ช่วย” ในโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกำลังน่ารักโรงเรียนหนึ่ง ดูเหมือว่าทุกอย่างช่างตรงข้ามจากโรงเรียนที่ตนเองฝึกสอนโดยสิ้นเชิง ทั้งขนาดสิ่งปลูกสร้าง จำนวนครูและนักเรียน จนกระทั่งเครื่องอำนวยความสะดวกต่อ การจัดการเรียนการสอน แต่ด้วยความเป็นครูที่อยู่เปี่ยมล้นก็ทำให้มีกำลังใจและบอกกับตนเองว่าต้องทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด และเมื่อได้เริ่มสอนไประยะหนึ่งจึงได้ค้นพบว่านักเรียนกว่าร้อยละ 80 ขาดความรู้ พื้นฐานและแบบรูปทางคณิตศาสตร์ ทำให้ยากในการต่อยอดความรู้ จนในบางครั้งเกิดความท้อแท้ใน การสอน และหาทิศทางในการสอนไม่ได้ ถ้าหากจะกลับไปฟื้นความรู้ในเนื้อหาเดิมก็จะทำให้มีเวลาไม่พอที่จะสอนให้ครบตามหลักสูตร หากจะเดินหน้าต่อก็ดูติดๆขัดๆ ข้าพเจ้าจึงได้ใช้เวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาลองผิดลองถูกจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จนได้แนวทางที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนคณิตศาสตร์ท่านอื่นๆบ้าง จึงขอนำเสนอพอสังเขปดังนี้
............1. การรู้จักข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูลพื้นฐานทางครอบครัว บุคลิกลักษณะของครูที่นักเรียนชอบ รูปแบบการเรียนการสอนที่นักเรียนชอบ เนื้อหาที่ชอบ ความถนัด เป็นต้น (เมื่อได้ข้อมูลแล้วให้นำมาวิเคราะห์ด้วยนะค่ะ)
...........2. ความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งหมายถึงความแตกต่างทางกายภาพ ลักษณะนิสัย และความแตกต่างต่างทางสติปัญญา
...........3. การออกแบบแผนการจัดการเรียนการสอน ให้เหมาะสมกับความสามารถและสภาพแวดล้อมของผู้เรียนและสำหรับนักเรียนที่มีความต่างจากเพื่อมากๆ หรืออาจเป็นเด็กที่มีความบกพร่องหรือเด็กพิเศษ ครูควรออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (IEP) ได้จะดีมาก
..........4. จัดกิจกรรมที่หลากหลายและให้นักเรียนมีส่วนร่วมและได้เคลื่อนไหวในขณะเรียน มีการสนทนาโต้ตอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งตรงนี้ครูไม่ควรใจร้อนด่วนสรุปคำตอบ ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดบ้าง (หรืออาจติดค้างข้ามคืนไว้บ้างก็ดีเหมือนกันนะค่ะ)
..........5.การให้แบบฝึกหัดหรือการบ้านที่เริ่มจากง่ายๆและไม่ยากเกินไปกว่าความสามารถของนักเรียนซึ่งตรงนี้จะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในตนเองและมีกำลังใจที่อยากจะทำเรื่องอื่นๆ....ต่อไป
..........6.การให้คำชม กำลังใจ และการเสริมแรง จะทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของตนเองและมั่นใจในตนเองมากขึ้น
..........7. การตรวจงานอย่างสม่ำเสมอและแจ้งผลการประเมินทุกครั้ง เพราะเป็นการแสดงซึ่งความเอาใจใส่ของครูที่มีต่อนักเรียน และเมื่อเห็นจุดที่นักเรียนทำผิดควรแก้ให้ด้วย ไม่ใช่ว่าขีดถูกๆๆอย่างเดียวรวมถึงให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการทำงานด้วย
.........8. ความจริงใจและความเอาใจใส่จากครู อันนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งจะทำให้ครูได้ใจนักเรียนมากที่สุด หลังจากสอนเสร็จแล้วครูไม่ควรสั่งงานแล้วรีบเดินหนีจากห้องไป ในขณะที่นักเรียนทำแบบฝึกหัดครูควรเดินดูนักเรียนทำงาน คอยสอบถามให้ข้อเสนอแนะ สร้างความคุ้นเคย เพราะบางทีเด็กๆอาจจะติดขัดในบางขั้นตอน ซึ่งเมื่อเขาไปต่อไม่ได้หรือไม่ได้รับคำแนะนำจะทำให้นักเรียนไม่อยากทำต่อและยากที่จะเรียนในคาบต่อไปได้ดี และสำหรับเด็กๆที่เรียนอ่อนด้วยแล้วยิ่งขาดความกล้าที่จะถามครูเมื่อเกิดความสงสัย ดังนั้นครูจึงควรเป็นฝ่ายเดินเข้าหานักเรียนก่อน แล้วหลังจากนั้นเด็กๆจะค่อยๆมั่นใจใน ตนเองจะมีความกล้าที่จะแสดงออกความคิดเห็นมากขึ้นทีละนิด จนในบางทีครูอาจจะค้นพบเพชรในตม ก็เป็นได้
.............จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแนวคิดที่ได้จากประสบการณ์บางส่วนของครูน้อยคนหนึ่งเท่านั้น สำหรับงานการสอนของครูคณิตศาสตร์อย่างเราๆนั้น ยังมีรายละเอียด หลักการ...วิธีการ อีกมากหมายนักซึ่งเราไม่สามารถสรุปได้ว่าวิธีการสอนใดดีที่สุด แต่เรารู้ดีว่าจะสอนอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อศิษย์
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอุไรวรรณ์ ศรีชาติ นักศึกษาปริญญาโท สาขาคณิตศาสตรศึกษา
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี , 1 ตุลาคม 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น