วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คุณรับมือกับความแตกต่างหลากหลายยังไง???...
ผู้ที่เรียนวิชาครูหรือที่เรียกขานกันในปัจจุบันว่าวิชาการทางการศึกษา เชื่อว่าคงเคยได้ยินชื่อ นักการศึกษาชาวอเมริกา จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) กันบ้าง นักการศึกษาชาวอเมริกันนี้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาไว้หลายเล่มและได้รับการนำมาใช้ในสถาบันฝึกหัดครูหลายแห่งนับว่าเกือบทั่วโลกได้ แม้จะเขียนหนังสือหลายเล่มและเสนอแนวคิดมากมายแต่ผู้ที่อ้างถึงกันมากมีอีกเรื่องหนึ่งที่ฮิตติดปาก คือ แนวคิดเรื่อง ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual difference) ที่เน้นว่าเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างทั้งด้านสติปัญญา ด้านความถนัด ด้านความรู้สึกนึกคิด ด้านวัฒนธรรม ฯลฯ การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่ครู พ่อแม่หรือผู้ปกครองจำเป็นต้องคำนึงให้มาก มิฉะนั้นเด็กก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้เสมอภาคกัน และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจทำให้ครูหรือพ่อแม่บางคนถึงขั้นรู้สึกลำเอียงต่อผู้เรียนอีกด้วย
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูใหม่ประสบการณ์น้อย มีโอกาสสัมผัสกับโรงเรียนประจำจังหวัด ขนาดใหญ่พิเศษที่มีชื่อเสียง สิ่งหนึ่งที่ยังคงต้องอาศัยประสบการณ์ในการแก้ปัญหาในการจัดการเรียน การสอนนั่นคือการก้าวย่างแห่งการเรียนรู้ที่กับผู้เรียนแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน บางคนก้าวเร็ว บางคนก้าวช้า ในขณะที่คิดว่าเราต่างก้าวกันตามปกตินั่นแหละ ตัวอย่างเช่นการสอนการแก้โจทย์ปัญหาในเรื่องเซต นักเรียนบางคนใช้เวลาเพียง 5 นาที เสร็จอธิบายได้ บางคนใช้เวลานานหน่อยกว่าจะเข้าใจรู้เรื่อง อาจจะใช้เวลา 10 นาที 15 นาที หรืออาจถึง ครึ่งชั่วโมง แต่บางคนไม่คิดไม่เอาอะไรเลย มองเผินๆอาจจะดูไม่ใช่ปัญหาอะไรมาก แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่พอควร ปัญหามันเกิดขึ้นก็เพราะว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้นมีจำนวนนักเรียนมากในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนนักเรียนที่ผู้เขียนสอนเฉลี่ยห้องละ 50 คน ต่างจำกัดด้วยเวลาเพียง 50 นาทีต่อคาบ กว่าจะพร้อมนำเข้าสู่บทเรียนให้นักเรียนคิดคล้อยตาม หายเหนื่อยจากการเปลี่ยนชั่วโมงเรียน เริ่มสอนได้จริงๆเหลือเพียงครึ่งชั่วโมง และเมื่อหมดเวลานักเรียนก็เปลี่ยนคาบไปเรียนวิชาอื่น เด็กที่มีจังหวะก้าวย่างในการเรียนรู้ช้า อาจจะยังไม่ทันรู้เรื่อง และที่ไม่รู้เรื่องอาจจะมิใช่สมองเขาไม่ดี (I.Q.ต่ำ) หรือโง่ แต่อาจเป็นเพราะว่าเด็กคนนั้นต้องการเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็จะรู้เรื่อง ทั้งครูผู้สอนเองในช่วงต้นๆก็ยังคงจะถ่ายทอดหรือให้ความรู้แก่นักเรียนที่ไม่ทั่วถึง ด้วยที่ว่าครูหนึ่งคนต่อนักเรียนห้าสิบคน นักเรียนแต่ละคนย่อมเรียนรู้ในสิ่งต่างๆที่แตกต่างกันครูอาจดูแลไม่ทั่วถึง อีกในบางครั้งบางห้องก่อนเรียนวิชาคณิตศาสตร์นักเรียนเรียนวิชาพละศึกษามาในช่วงบ่าย เหงื่อนักเรียนม.ปลายเยอะไหลอาบหน้า อากาศก็ร้อน เสื้อเปียก กลิ่นรองเท้าที่ฉุน และสภาพห้องเรียนที่มีนักเรียนแออัด สภาพแวดล้อมที่ยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ แล้วครูที่มีประสบการณ์เยอะๆท่านจัดการกับความแตกต่างตรงส่วนนี้อย่างไร ถึงจะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในวิชาของท่านได้อย่างถ่องแท้
การตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ ได้เริ่มเป็นสิ่งที่ท้าทายให้ผู้เรียนได้คิดหาวิธีการแก้ปัญหา เพราะคิดว่าเราจะตระหนักอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ถ้าไม่ปรับปรุงวิธีการเรียน การสอนแบบใหม่ ให้เหมาะสมกับนักเรียนกลุ่มนี้ ผู้เขียนเชื่อว่ามีจำนวนคุณพ่อ คุณแม่ คุณครูและผู้ใหญ่ในวงการศึกษาหลายคนมองเห็นประเด็นนี้ ได้หาทางแก้ไขกลวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ความสามารถและภูมิหลังของเด็กที่แตกต่าง แต่บางทีบางครั้งผู้เขียนยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เหมาะสมกับผู้เรียนมากที่สุด จะเห็นว่ากระแสโลกในทุกวันนี้มีแนวโน้มเอียงยอมรับความเหมือนที่มากกว่าความต่างโดยเฉพาะสังคมไทยที่เลี้ยงดูกันแบบพี่ๆน้องๆมีการแบ่งปัน ถ่ายเทกันได้ แต่หากตอกย้ำความเหมือนมากจนเลยเถิดก็จะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติ เพราะทั้งนี้ธรรมชาติที่แท้จริงนั้นประกอบด้วยความหลากหลายและความแตกต่าง แต่ในความหลากหลายนั้นก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่าสมดุล ไม่มีความหลากหลายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างลงตัว ก็ย่อมไม่เป็นธรรมชาติ และอะไรไม่เป็นธรรมชาติก็ไม่ปกติ การเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ก็ย่อมเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ปกติไม่รู้จริงนั่นเอง
ถึงแม้ว่า ณ ตอนนี้มีหลายคนทั้งสภาผู้แทนราษฎร ครู –อาจารย์ และพ่อแม่ต่างได้เข้าร่วมมีบทบาทออกพระราชบัญญัติการศึกษาพิจารณากันในประเด็นที่ว่าความแตกต่างและความเหมือนหรือความคับแคบกับความหลากหลาย เช่น แง่ของสิทธิ์ในการจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอน ต่างบริบทวิชา ต่างครู ต่างประสบการณ์ ต่างการวัดผลประเมินผล หลากหลายในเนื้อหาสาระ เกณฑ์การพิจารณาการจัดการเรียนการสอนอยู่ที่ใด ลักษณะเช่นนี้ผู้เขียนเชื่อว่าคงเกิดขึ้นกับครูหลายคน หลายโรงเรียนและผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่าคงมีการจัดการกับข้อจำกัดดังกล่าวไปในทิศทางที่ดี มิใช่เพียงปล่อยทิ้งให้เป็นภาระของสังคมต่อไป หาแนวทางที่ยอมรับเกิดผลประโยชน์กับผู้เรียนสูงที่สุด เพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อๆไปในสังคมไทยได้ยอมรับความแตกต่างและความเหมือนจะได้ไม่เป็นปัญหาในสังคมไทยเช่นในปัจจุบันนี้....




ผู้เขียน
....นางสาวณัฐหทัย มูลทา รหัสประจำตัว 53671430107 วท.ม.ค.ศ.4 คณิตศาสตร์ศึกษา

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Paradox

ข้อความนี้ไม่เป็นประพจน์” ประโยคนี้เป็นประโยคที่นักศึกษาห้อง วทม.คศ.4 กลุ่มหนึ่ง ได้นำเสนอในหัวเรื่อง ตรรกศาสตร์ ท่านถามว่า “ข้อความนี้ไม่เป็นประพจน์” เป็นประพจน์หรือไม่ ( ประพจน์ คือประโยคบอกเล่าหรือปฏิเสธที่มีค่าความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง ) ซึ่งเป็นคำถามที่ดีที่ต้องใช้คณิตพิจารณานานพอสอควร ร่วมกับเพื่อนร่วมห้องและอาจารย์ผู้สอน จากนั้นก็ได้ข้อสรุป ว่า ประโยคนี้ “ข้อความนี้ไม่เป๋นประพจน์” เป็น ปฏิทรรศน์ หรือ พาราด็อกซ์
ปฏิทรรศน์ หรือ พาราด็อกซ์ (
อังกฤษ: Paradox) คือ ประโยคหรือกลุ่มของประโยคที่เป็นจริงอย่างชัดเจน แต่นำไปสู่ ความขัดแย้งในตัวเอง หรือสถานการณ์ที่อยู่นอกความคิดทั่วไป โดยทั่วไปแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ประโยคดังกล่าวนี้แท้จริงแล้วอาจไม่ได้นำไปสู่สภาวะขัดแย้ง ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใช่ข้อขัดแย้งจริง ๆ หรือข้อกำหนดในตอนต้นอาจไม่จริงหรือไม่สามารถเป็นจริงพร้อม ๆ กันได้ คำว่าปฏิทรรศน์หรือพาราด็อกซ์มักถูกใช้แทนที่ไปมากับคำว่า ข้อขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม แนวคิดทั้งสองนั้นไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ในขณะที่ข้อขัดแย้งประกาศสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวเอง หลาย ๆ ปฏิทรรศน์กลับมีทางออกหรือคำอธิบาย ตัวอย่างประโยคที่เป็น Paradox เช่น
- ปัญหาว่า เราไม่สามารถวิ่งแข่งแซงเต่าได้ โดยต่อให้เต่าอยู่ในตำแหน่งข้างหน้า พิจารณาเมื่อเราเดินทางไปอยู่ที่ตำแหน่งเดิมของเต่า เต่าก็เปลี่ยนตำแหน่งไปข้างหน้าเสียแล้ว
-
กระต่ายจะมีโอกาสวิ่งแซงเต่าหรือเปล่า ? (posted on 27 May 2009 by nookniss in Mathematics )
- ถ้าเราเติมน้ำทีละหยดๆ ลงในถังใบหนึ่งที่บรรจุไวน์แดงไว้ ในขณะที่เติมน้ำทีละหยดก็จะมีการกวนของเหลวในถังนั้นไปด้วย พร้อมกับมีก๊อกเปิดของเหลวที่อยู่ในถังนั้นออกมาให้ชิมได้ ปัญหาคือเราสามารถหาน้ำหยดสุดท้ายที่ทำให้ของเหลวที่เราชิมเปลี่ยนรสชาติจากไวน์แดงมาเป็นน้ำได้หรือเปล่า???
- "A จริง และ A เป็นเท็จ"
- "ประโยคนี้เป็นเท็จ"
- เมืองหนี่งมีช่างตัดผมอยู่หนึ่งคน เค้าตัดผมให้ทุกคนที่ไม่ได้ตัดผมให้กับตัวเอง ถามว่าใครตัดผมให้กับช่างตัดผม?
- ถ้าคนเป็นนักวิ่ง กำลังวิ่งแข่งขัน ถ้าคุรวิ่งแซงคนสุดท้ายคุณจะเป็นคนที่เท่าใด
- มีโปรแกรมที่ใช้ตรวจสอบการหยุดของโปรแกรมรึเปล่า
- "เราไม่สามารถดึ่มเหล้าในแก้วที่ละครึ่งได้" หรือ "กัดกล้วยกินที่ละครึ่งไม่สามารถหมดทั้งลูกได้"
- "I have found the paradox that if I love until it hurts, then there is no hurt, but only more love." (แม่ชีเทเรซา )
- "you cannot step twice into the same river." ( เฮราคลิทุส )
- ข้ออ้าง 1: จำนวน 1 เป็นจำนวนน้อย
ข้ออ้าง 2: ถ้าจำนวน 1 เป็นจำนวนน้อย จำนวน 2 ก็เป็นจำนวนน้อย
ข้ออ้าง 3: ถ้าจำนวน 2 เป็นจำนวนน้อย จำนวน 3 ก็เป็นจำนวนน้อย …
ข้ออ้าง 100,000: ถ้าจำนวน 99,999 เป็นจำนวนน้อย จำนวน 100,000 ก็เป็นจำนวนน้อย
ข้อสรุป: จำนวน 100,000 เป็นจำนวนน้อย
- ถ้าไม่มีทรายเลยแม้แต่หนึ่งเม็ด เราก็ย่อมก่อกองทรายไม่ได้ หากเรามีทรายเพิ่มขึ้นมาอีกเพียงหนึ่งเม็ด เราก็ไม่สามารถก่อกองทรายขึ้นมาได้จากอะไรที่ไม่ใช่กองทรายอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่อาจมีใครก่อกองทรายขึ้นมาได้
- สมมติว่ามีฝาแฝด 2 คน คือ ขาว และเขียว โดยทั้งสองคนนี้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศ และเมื่อโตขึ้นก็ได้ทำงานในองค์การอวกาศทั้งคู่ โดยขาวเฝ้าประจำอยู่ที่ถานีอวกาศบนโลก (จำง่ายๆ แบบเกือบคล้องจองว่า ‘ขาวเฝ้าบ้าน’) ส่วนเขียวนั้นโชคดีมีโอกาสเดินทางไปในอวกาศด้วยยานอวกาศความเร็วสูง เพื่อสำรวจดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างออกไปหลายปีแสง (จำง่ายๆ แบบคล้องจองว่า ‘เขียวท่องเที่ยวไป’) จากนั้นก็กลับมายังโลก ( ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ) เป็นต้น
(นายวุฒิศักดิ์ เจินยุหะ เลขที่ 3 วทม.คศ.4 )

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มือใหม่หัดสอน...กับเด็กอ่อนคณิตศาสตร์

........................“กล้วยไม้ออกดอกช้า.............ฉันใด
............ ............การศึกษาเป็นไป...................ฉันนั้น
.........................แต่ออกดอกคราวใด..............งามเด่น
.........................การศึกษาปลูกปั้น.................เสร็จแล้วแสนงาม “
...........................................................................( มล.ปิ่น มาลากุล )
.........จากอดีตถึงปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากวิชาคณิตศาสตร์มีลักษณะเป็นนามธรรมและเนื้อหาบางตอนก็ยากที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจต้องใช้ความคิดอย่างสมเหตุสมผลจึงจะเรียนรู้และเข้าใจโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ได้ (สมจิต ชีวปรีชา;อ้างใน นพวรรณ มงคลนพเก้า. 2545 : 46-47)
.........จากการประเมินผลการศึกษาระดับชาติพบว่าเด็กไทยมีผลการเรียนคณิตศาสตร์ต่ำทุกปีและมีผลการเรียนอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ นักเรียนคิดแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ไม่เป็นการเรียน.การสอนจึงมีลักษณะเป็นการเลียนแบบนักเรียนทำแบบฝึกหัดหรือทำการบ้านไม่ได้ นักเรียนไม่สนใจและไม่ตั้งใจเรียน นักเรียนส่วนมากwม่มีทักษะในการคิดคำนวณ และไม่มีทักษะในการคิดแก้ไขปัญหาคณิตศาสตร์ อันมีสาเหตุมาจาก องค์ประกอบดังนี้
..............1. ด้านนักเรียน สาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์ เกิดจากนักเรียนไม่ชอบคิด ไม่ชอบแก้ปัญหา ขาดการฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ
.............2.ด้านผู้ปกครองผู้ปกครองมีการศึกษาน้อยเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์และไม่สนับสนุนหรือเอาใจใส่การเรียนของนักเรียน
.............3.ด้านหลักสูตรสาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์อันเนื่องมาจาก สื่อการสอนและเครื่องอำนวยการสอนไม่เพียงพอ
.............4.ด้านครูผู้สอน ได้แก่ ครูสอนไม่ดี อธิบายไม่รู้เรื่อง ครูดุ เจ้าอารมณ์ ครูไม่เข้มงวดในการทำการบ้าน ครูสอนจริงจังบรรยากาศเครียดขาดอารมณ์ขัน ครูไม่อดทนที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจ ครูไม่ใช้สื่อ การสอนเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ ครูให้นักเรียนอ่านเองสรุปเองแล้วมาสอบ วิธีสอนของครูไม่น่าสนใจ ครูมีความรู้ไม่ดี ขาดความมั่นใจตนเอง ครูไม่จบสาขาวิชาคณิตศาสตร์โดยตรง ครูไม่เปิดใจกว้างให้นักเรียนตอบอย่างอิสระครูขาดแรงจูงใจ ครูสอนโดยไม่เน้นการคิดแก้ปัญหาและไม่เน้นการนำไปใช้ในชีวิตจริงครูมีภาระงานที่รับผิดชอบในโรงเรียนมากไป
.......สำหรับผู้เขียนในฐานะที่เป็นคุณครูใหม่คนหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ในการสอนเพียงหนึ่งปีเศษๆ และแม้ว่าข้าพเจ้าจะเป็นครูที่เรียนผ่านหลักสูตรครู 5ปี (ครูพันธ์ใหม่)ซึ่งหลักสูตรนี้จะจัดให้มีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 1ปีเต็มๆเพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ในการสอนและการปรับตัวให้คุ้นเคยกับบริบทในสถานศึกษา ซึ่งก็ถือว่าทำให้ตนเองมีความมั่นใจและความพร้อมในการเป็นครูมืออาชีพท่ามกลางความคาดหวังของสังคม
......เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ครูอย่างเต็มตัว ในตำแหน่งที่ถูกเรียกขานกันว่า.. “ครูผู้ช่วย” ในโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกำลังน่ารักโรงเรียนหนึ่ง ดูเหมือว่าทุกอย่างช่างตรงข้ามจากโรงเรียนที่ตนเองฝึกสอนโดยสิ้นเชิง ทั้งขนาดสิ่งปลูกสร้าง จำนวนครูและนักเรียน จนกระทั่งเครื่องอำนวยความสะดวกต่อ การจัดการเรียนการสอน แต่ด้วยความเป็นครูที่อยู่เปี่ยมล้นก็ทำให้มีกำลังใจและบอกกับตนเองว่าต้องทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด และเมื่อได้เริ่มสอนไประยะหนึ่งจึงได้ค้นพบว่านักเรียนกว่าร้อยละ 80 ขาดความรู้ พื้นฐานและแบบรูปทางคณิตศาสตร์ ทำให้ยากในการต่อยอดความรู้ จนในบางครั้งเกิดความท้อแท้ใน การสอน และหาทิศทางในการสอนไม่ได้ ถ้าหากจะกลับไปฟื้นความรู้ในเนื้อหาเดิมก็จะทำให้มีเวลาไม่พอที่จะสอนให้ครบตามหลักสูตร หากจะเดินหน้าต่อก็ดูติดๆขัดๆ ข้าพเจ้าจึงได้ใช้เวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาลองผิดลองถูกจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จนได้แนวทางที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนคณิตศาสตร์ท่านอื่นๆบ้าง จึงขอนำเสนอพอสังเขปดังนี้
............1. การรู้จักข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูลพื้นฐานทางครอบครัว บุคลิกลักษณะของครูที่นักเรียนชอบ รูปแบบการเรียนการสอนที่นักเรียนชอบ เนื้อหาที่ชอบ ความถนัด เป็นต้น (เมื่อได้ข้อมูลแล้วให้นำมาวิเคราะห์ด้วยนะค่ะ)
...........2. ความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งหมายถึงความแตกต่างทางกายภาพ ลักษณะนิสัย และความแตกต่างต่างทางสติปัญญา
...........3. การออกแบบแผนการจัดการเรียนการสอน ให้เหมาะสมกับความสามารถและสภาพแวดล้อมของผู้เรียนและสำหรับนักเรียนที่มีความต่างจากเพื่อมากๆ หรืออาจเป็นเด็กที่มีความบกพร่องหรือเด็กพิเศษ ครูควรออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (IEP) ได้จะดีมาก
..........4. จัดกิจกรรมที่หลากหลายและให้นักเรียนมีส่วนร่วมและได้เคลื่อนไหวในขณะเรียน มีการสนทนาโต้ตอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งตรงนี้ครูไม่ควรใจร้อนด่วนสรุปคำตอบ ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดบ้าง (หรืออาจติดค้างข้ามคืนไว้บ้างก็ดีเหมือนกันนะค่ะ)
..........5.การให้แบบฝึกหัดหรือการบ้านที่เริ่มจากง่ายๆและไม่ยากเกินไปกว่าความสามารถของนักเรียนซึ่งตรงนี้จะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในตนเองและมีกำลังใจที่อยากจะทำเรื่องอื่นๆ....ต่อไป
..........6.การให้คำชม กำลังใจ และการเสริมแรง จะทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของตนเองและมั่นใจในตนเองมากขึ้น
..........7. การตรวจงานอย่างสม่ำเสมอและแจ้งผลการประเมินทุกครั้ง เพราะเป็นการแสดงซึ่งความเอาใจใส่ของครูที่มีต่อนักเรียน และเมื่อเห็นจุดที่นักเรียนทำผิดควรแก้ให้ด้วย ไม่ใช่ว่าขีดถูกๆๆอย่างเดียวรวมถึงให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการทำงานด้วย
.........8. ความจริงใจและความเอาใจใส่จากครู อันนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งจะทำให้ครูได้ใจนักเรียนมากที่สุด หลังจากสอนเสร็จแล้วครูไม่ควรสั่งงานแล้วรีบเดินหนีจากห้องไป ในขณะที่นักเรียนทำแบบฝึกหัดครูควรเดินดูนักเรียนทำงาน คอยสอบถามให้ข้อเสนอแนะ สร้างความคุ้นเคย เพราะบางทีเด็กๆอาจจะติดขัดในบางขั้นตอน ซึ่งเมื่อเขาไปต่อไม่ได้หรือไม่ได้รับคำแนะนำจะทำให้นักเรียนไม่อยากทำต่อและยากที่จะเรียนในคาบต่อไปได้ดี และสำหรับเด็กๆที่เรียนอ่อนด้วยแล้วยิ่งขาดความกล้าที่จะถามครูเมื่อเกิดความสงสัย ดังนั้นครูจึงควรเป็นฝ่ายเดินเข้าหานักเรียนก่อน แล้วหลังจากนั้นเด็กๆจะค่อยๆมั่นใจใน ตนเองจะมีความกล้าที่จะแสดงออกความคิดเห็นมากขึ้นทีละนิด จนในบางทีครูอาจจะค้นพบเพชรในตม ก็เป็นได้
.............จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแนวคิดที่ได้จากประสบการณ์บางส่วนของครูน้อยคนหนึ่งเท่านั้น สำหรับงานการสอนของครูคณิตศาสตร์อย่างเราๆนั้น ยังมีรายละเอียด หลักการ...วิธีการ อีกมากหมายนักซึ่งเราไม่สามารถสรุปได้ว่าวิธีการสอนใดดีที่สุด แต่เรารู้ดีว่าจะสอนอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อศิษย์


ผู้เรียบเรียง : นางสาวอุไรวรรณ์ ศรีชาติ นักศึกษาปริญญาโท สาขาคณิตศาสตรศึกษา
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี , 1 ตุลาคม 2553