วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หลักการสอนคณิตศาสตร์

1. สอนโดยคำนึงถึงความความแตกต่างระหว่างบุคคลและความพร้อมของนักเรียน ทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และพร้อมในแง่ความรู้พื้นฐานที่จะมาต่อเนื่องกับความรู้ใหม่ โดยครูต้องทบทวนความรู้เดิมก่อนแล้วเชื่อมโยงสู่ความรู้ใหม่ จะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่เรียนได้ดี
2. ควรสอนเป็นลำดับขั้นตอน เริ่มจากตัวอย่างที่ง่าย ๆ แล้วเพิ่มขีดความยากขึ้นตามความเหมาะสม จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม มีการแสดงตัวอย่างให้เด็กดูอย่างช้า ๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจอย่างแท้จริง
3. ในการสอนแต่ละครั้งต้องตั้งเป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการให้เด็กเกิดคุณลักษณะอย่างไรบ้าง
4. ปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการสอนคณิตศาสตร์ให้สนุก น่าสนใจ ไม่ซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย ซึ่งอาจจะมีกลอน เพลง เกม การเล่าเรื่อง ฝึกประลองสมอง การแข่งขัน โครงงาน ค่ายคณิตศาสตร์ เรียนนอกสถานที่ บูรณาการกับวิชาอื่น การ์ตูน ปริศนา CAI ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัว การทำงานเป็นทีม/กลุ่ม เป็นต้น ทุกวันนี้หากทำอะไรดีงามโดยไม่มีการปรุงแต่งคนก็ไม่สนใจ ไม่เหมือนอบายมุขที่ไม่ต้องปรุงแต่งมากคนก็วิ่งเข้าหา
5. ครูควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีการยืดหยุ่นทั้งเวลาที่ใช้สอน ควรใช้ระยะเวลาพอสมควรไม่นานจนเกินไป เน้นให้เด็กได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง ค้นพบด้วย
ตนเอง มีอิสระใน การทำงาน
6. ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับครูผู้สอนในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพราะจะช่วยให้ครูเกิดความมั่นใจในการสอน และเป็นไปตามความต้องการของนักเรียน เมื่อเกิดความพอใจทั้งสองฝ่าย การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะประสบผลสำเร็จตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
7. ครูต้องรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์แก้ปัญหา นำไปสู่การทำวิจัยในชั้นเรียนต่อไป
8. ครูควรมีเครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลาย ได้มาตรฐาน ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน และคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ เช่นการสังเกต แบบทดสอบ แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ เป็นต้น
9. สอนให้สัมพันธ์กับความคิด เมื่อครูจะทบทวนเรื่องใดก็ควรทบทวนให้หมด การรวบรวมเรื่องที่เหมือนกันเข้าเป็นหมวดหมู่หรือสัมพันธ์กัน จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจและจำได้แม่นยำยิ่งขึ้น
10. การนำเข้าสู่บทเรียนให้น่าสนใจ โดยใช้ความสนใจของนักเรียนเป็นจุดเริ่มต้น เป็นแรงดลใจที่จะเรียน เป็นการดึงดูดความสนใจและเตรียมพร้อมที่จะเรียนต่อไป
11. สอนให้ผ่านประสาทสัมผัส ผู้สอนอย่าพูดเฉย ๆ โดยไม่ให้เห็นตัวอักษร ไม่เขียนกระดานดำเพราะการพูดลอย ๆ ไม่เหมาะกับวิชาคณิตศาสตร์ มีสื่อประกอบการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
12. ไม่ควรเป็นเรื่องที่ยากเกินไป ผู้สอนบางคนชอบให้โจทย์ยาก ๆ เกินหลักสูตร ซึ่งอาจทำให้นักเรียนที่เรียนอ่อนท้อถอย แต่ถ้าผู้เรียนที่เรียนเก่ง ก็อาจจะชอบ ควรส่งเสริมเป็นรายบุคคล การสอนต้องคำนึงหลักสูตรและเนื้อหาที่เพิ่มเติมให้เหมาะสม
13. เด็ก ๆ มีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น มีความสามารถในการอธิบายแนวคิดให้กับเพื่อน ๆ ได้ การเรียนคณิตศาสตร์ที่ดีไม่ใช่แค่การหาคำตอบถูกต้องเท่านั้น
14. เน้นความเข้าใจมากกว่าให้เด็กจำ เพื่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและคงทน
15. ใช้วิธีอุปนัยในการสรุปหลักเกณฑ์ของบทเรียนและนำความรู้ไปใช้ด้วยวิธีนิรนัย
16. ครูและระบบการเรียนการสอนต้องเอื้อให้เด็กรู้สึกอิสระ มีความเป็นกันเองเด็กจะได้กล้าถามข้อสงสัย มีอารมณ์ขัน มีความกระตือรือร้น หมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่แสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น